วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

มะขามป้อม




มะขามป้อม
(INDIAN GOOSEBERRY)

ชื่อท้องถิ่น             :      กันโตด  กำทวด  มั่งลู่  สันยาส่า
ชื่อสามัญ               :      มะขามป้อม
ชื่อวิทยาศาสตร์     :      Phyllanthus emblica Linn.
ชื่อวงศ์                  :       PHYLLANTHACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
             ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง ลำต้นคดงอ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบหรือค่อนข้างเรียบ หลุดลอกเป็นแผ่นกว้างๆ  เปลือกชั้นในสีน้ำตาลแดง


ใบมะขามป้อม ออกเป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงกันเป็น 2 แถว คล้ายขนนก ลักษณะของใบย่อย เป็นใบขนาดเล็ก ยาวประมาณ 1 ซม. ปลายใบแหลมยาวรี มีสีเขียวแก่

ดอกมะขามป้อม ออกเป็นช่อ หรือเป็นกระจุกเล็ก ๆ ลักษณะของดอกเป็นดอกขนาดเล็ก ดอกหนึ่งมีกลีบดอกประมาณ 5-6 กลีบ กลางดอกมีเกสรตัวผู้สั้น ๆ 3-5 อัน ดอกมีสีเหลือง ๆ เขียว ๆ ก้านดอกสั้น


ผลมะขามป้อม มีลักษณะกลม เกลี้ยง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. มีรอยแยกแบ่งออกเป็น 6 ซีก เนื้อในผลสีเหลืองออกน้ำตาลเมื่อผลแก่ ผลอ่อนมีสีเขียวออกเหลือง ข้างในเนื้อผล มีเมล็ดสีน้ำตาล

สรรพคุณ
ตำรายาไทย  :  เนื้อผลแห้ง รสเปรี้ยวฝาดขม ขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวง แก้บิด ท้องเสีย ใช้ควบกับธาตุเหล็ก แก้โรคดีซ่าน และช่วยย่อยอาหาร  ยางจากผล รสเปรี้ยวฝาดขม  ช่วยย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ใช้เป็นยาแก้ไอ
ตำรับยาแผนโบราณ  :  ผลอ่อน รสเปรี้ยวหวานฝาดขม บำรุงเนื้อหนังให้บริบูรณ์ กัดเสมหะในคอ ทำให้เสียงเพราะ แก้มังสังให้บริบูรณ์ แก้พรรดึก(ท้องผูก) แก้พยาธิ ผลแก่ รสเปรี้ยวฝาดขมเผ็ด แก้ไข้เจือลม แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้เสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ลดไข้ ขับปัสสาวะ ระบายท้อง บำรุงหัวใจ ฟอกโลหิต แก้ลม แก้ลักปิดลักเปิด มีวิตามินซีมากกว่าส้ม 20 เท่า (เมื่อเทียบในปริมาณเท่ากัน)
ตำรายาไทย  :  มะขามป้อมจัดอยู่ใน พิกัดตรีผลาคือการจำกัดจำนวนผลไม้ 3 อย่าง มี ลูกสมอพิเภก ลูกสมอไทย ลูกมะขามป้อม สรรพคุณแก้ปิตตะ วาตะ เสมหะ ในกองธาตุ กองฤดู กองอายุ และกอง  สมุฎฐาน
รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา  :  แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้
1.ใช้เนื้อผลสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือเคี้ยว วันละ 3-4 ครั้ง
2.ผลสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดจิ้มเกลือรับประทาน
3.ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ
องค์ประกอบทางเคมี  :  มีวิตามินซีสูง (ในผลมะขามป้อม 1 ผลมีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากับส้ม 2 ลูก) นอกจากนี้ยังพบ rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic acid สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด์ อัลคาลอยด์ คูมาริน เป็นต้น
การศึกษาทางเภสัชวิทยา  :  ต้านไวรัส (ไข้หวัดใหญ่, ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase) แก้ไอ ต้านการอักเสบ ลดความดันโลหิต ยับยั้งการก่อกลายพันธุ์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ลดคอเลสเตอรอล ปกป้องตับ หัวใจและหลอดเลือด
การศึกษาทางพิษวิทยา  :  การศึกษาพิษเฉียบพลัน สารสกัดจากมะขามป้อมเข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรเพศผู้และเมียมีค่า LD50 เท่ากับ 145และ 288 มก./กก นน.ตัวตามลำดับ พิษกึ่งเรื้อรัง ทดลองในหนูถีบจักรโดยป้อนสารสกัดขนาด 100 และ 500 มก./กก. นน.ตัว นาน 10 สัปดาห์ พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักหัวใจ ปอด ตับ และเอนไซม์ที่ตับ

แหล่งที่มา : www.phargarden.com