วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

สมุนไพรรางจืด




สมุนไพรรางจืด
(LAUREL CLOCK VINE)

ชื่อท้องถิ่น             :      กำลังช้างเผือก  เครือเขาเขียว ยาเขียว 
                                     หนามแน่
ชื่อสามัญ               :      รางจืด ว่านรางจืด
ชื่อวิทยาศาสตร์     :      Thunbergia laurifolia Lindl.
ชื่อวงศ์                  :       ACANTHACEAE

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
      รางจืดเป็นไม้เถาที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียตะวันนอกเฉียงใต้ อาทิ ไทย และพม่า เป็นต้น ในประเทศไทยพบมากตามป่าดงดิบหรือป่าดิบชื้นทั่วไป แต่ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่ามีสรรพคุณเด่นในการขจัดพิษต่างๆ ทั้งพิษจากพืช พิษจากสัตว์ และพิษจากสารเคมี จึงนิยมนำมาปลูกตามบ้านเรือนทั่วไป

ชนิดของรางจืดตามตำรายา
      ในตำรายาสมุนไพรของชะลอ อุทกภาชน์ ได้แบ่งสมุนไพรที่เรียกว่า รางจืด ออกเป็น 3 ชนิด คือ
1. รางจืดเถา
      เป็นรางจืดที่กล่าวในบทความนี้ คือ มีลักษณะลำต้นเป็นเถาเลื้อย แบ่งเป็นชนิดย่อยตามสีดอก 3 ชนิด คือ
          – ชนิดดอกสีม่วงอ่อนหรือสีคราม ซึ่งทางตำรายากล่าวว่า สามารถออกฤทธิ์ทางยามากกว่าชนิดดอกเหลือง และดอกขาว และเป็นชนิดที่นิยมปลูกมากที่สุดในปัจจุบัน
          – ชนิดดอกสีเหลือง เป็นชนิดที่พบน้อยมาก
          – ชนิดดอกสีขาว เป็นชนิดที่พบน้อยมาก
2. รางจืดต้น
      เป็นรางจืดที่จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นสูงไม่เกิน 6 ฟุต ลำต้นแตกกิ่งก้านแขนงเป็นทรงพุ่ม มีดอก และฝักคล้ายกับดอก และฝักถั่ว ดอกมีสีเหลือง นิยมนำใบ และรากมาใช้ทำยาสมุนไพร และเชื่อว่ารากสามารถแก้คุณไสย ยาพิษ และยาสั่งได้
3. ว่านรางจืด
      เป็นรางจืดที่ตำรายาจัดให้อยู่ในกลุ่มว่าน ลำต้นเป็นหัวใต้ดิน เนื้อหัวมีสีขาว และมีกลิ่นหอม สามารถนำมาประกอบอาหารได้ ส่วนมีลำต้นเหนือดินที่เป็นกาบใบ และใบ จะมีลักษณะคล้ายกอขมิ้น ว่านรางจืดนี้ นิยมนำหัวมาทำสมุนไพร และเชื่อว่าสามารถแก้คุณไสย ยาสั่ง และขับสารพิษเหมือนกับรางจืดต้นได้

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
      ลำต้น  ต้นรางจืด เป็นพืชไม้เลื้อย หรือไม้เถา เลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม



ใบ  รางจืดเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ใบแทงออกใบเดี่ยวออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา มีก้านใบยาว 2-4 เซนติเมตร ใบมีรูปหัวใจแหลม โคนใบมน กว้าง ตรงกลางโคนใบอาจเว้าหรือไม่เว้า ปลายใบแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย ใบมีขนาดกว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร ใบขนาดใหญ่จะอยู่โคนก้าน และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบใบเรียบ ใบด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่าง มีขนที่ด้านล่างใบ ส่วนด้านบนไม่มี ส่วนเส้นใบมี 3 เส้น เป็นร่องตื้น ยาวจากโคนใบมาปลายใบ มี 2 เส้นใบ อยู่ด้านซ้าย-ขวา ริมขอบใบยาวเกือบถึงปลายใบ และอีก 1 เส้นใบ อยู่บริเวณกลางใบ ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ


ดอก  ดอกรางจืดแทงออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5 กลีบ สีม่วงอ่อน มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาดประมาณ 5-10 เซนติเมตร ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม



ผล  ผลรางจืด เรียกว่า ฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป ผลมีรูปทรงกลมเป็นหลอด กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก





การประโยชน์รางจืด
      1. นิยมนำใบ ราก และเถา มาใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะ เช่น การตากแห้ง แล้วนำมาบดอัดใส่แคปซูลกิน การนำมาต้มกับน้ำดื่ม รวมไปถึงการนำรากหรือใบสดมาขยี้ประคบแผลที่ถูกสัตว์มีพิษกัด
      2. ใช้ต้มน้ำอาบ แก้อาการแพ้ ผื่นคัน ลดการเกิดโรคผิวหนัง โดยใช้ใบหรือเถาสด 10-15 ใบหรือเถาขนาดยาว 10 ซม. ต้มในน้ำประมาณ 10 ลิตร อาบทุกวัน ประมาณ 5-7 วัน
      3. นำใบ 5-10 ใบ มาโคกให้ละเอียด ก่อนผสมน้ำ 1 แก้ว แล้วคั้นเอาเฉพาะน้ำสำหรับดื่ม
      4. นำใบมาตากแห้ง แล้วสับเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อนใช้ชงน้ำร้อนเป็นชาดื่ม
      5. นำใบ 10-20 ใบ หรือ ใช้เถาตัดเป็นชิ้นๆยาว 1-2 นิ้ว ก่อนนำไปแช่สุราดื่ม
       6. ดอกรางจืด นำมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วกรองแยกกาก ก่อนนำน้ำที่ได้ใช้ทำของหวาน ใช้หุงข้าว หรือใช้ทำสีผสมอาหารอื่นๆ ซึ่งจะให้สีม่วงอ่อนหรือสีคราม หรือสีอื่นตามชนิดสีของดอก
      7. คนโบราณมีความเชื่อว่า การดื่มน้ำต้มจากรางจืดสามารถช่วยแก้คุณไสย ยาสั่งหรือมนต์ดำที่ผู้อื่นทำแก่ตนได้
      8. ใบรางจืดตากแห้งแล้ว นำมาบดให้ละเอียด ใช้ผสมในอาหารสัตว์ อาทิ อาหารหมู อาหารไก่ เป็นต้น ช่วยเสริมภูมิต้านทานต่อโรค และช่วยรักษาให้สัตว์มีอัตราการรอดสูงขึ้นหลังจากที่ได้รับเชื้อโรค

      สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา” (Food and Drug Administration) หรือ (อย.) ประกาศห้ามนำ รางจืด มาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลจากงานวิจัยมายืนยันความปลอดภัย หากบริโภค รางจืด ต่อเนื่อง อาจเกิดความผิดปกติต่อระบบเลือด ตับและไตทำงานผิดปกติ

แหล่งที่นมา :