วันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ป่าเต็งรัง




ป่าเต็งรัง
             เป็นป่าผลัดใบที่มีไม้วงศ์ยางบางชนิดเป็นไม้เด่น ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง และยางกราด โดยทั่วไปความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าเต่งรังจะน้อยกว่าป่าเบญจพรรณ เพราะดินตื้นกักเก็บน้ำได้น้อย มีหินบนผิวดินมาก ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เกิดขึ้นที่ระดับความสูงประมาณ 50-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีช่วงแห้งแล้งจัดเกิน 4 เดือนต่อปี ประกอบกับปริมาณน้ำฝนตกน้อยคือ 900-1,200 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น

ที่มา อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง
            ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดการคงอยู่ของป่าเต็งรังคือ ไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากไฟเป็นตัวจัดการโครงสร้างป่าและคัดเลือกพันธุ์ไม้ ต้นฤดูแล้งใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งจนหมดกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี หลังจากไฟผ่านไปพื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดขึ้นอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามาสู่ป่าเต็งรัง อาทิ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง กระต่ายป่า ความร้อนจากไฟยังช่วยไล่แมลงบนพื้นดินหรือใต้เปลือกไม้ให้เผยตัวออกมา กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่านกกินแมลงนานาชนิดอีกด้วย ปัจจุบัน ป่าเต็งรังในประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมลงมาก เพราะการตัดไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจออกไปใช้งาน สัตว์เลี้ยงพวกวัวควายเข้าไปหากินในป่าเหยียบย่ำทำลายพันธุ์ไม้ต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นมักรุนแรงเกินกว่าป่าจะฟื้นตัวได้ทัน

พื้นที่ซึ่งเป็นป่าเต็งรังส่วนใหญ่จะมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตของพืชหลายประการอาทิเช่น
     1. เนื้อดินเป็นทราย 
     2. ชั้นดินมีการชะล้างรุนแรง (albic horizon) ชั้นดินถูกน้ำชะล้างเอาอนุภาคดินเหนียว ธาตุอาหาร
อินทรีย์วัตถุลงไปสะสมในดินชั้นล่าง ธาตุอาหารอยู่ลึกเกินไป รากพืชไม่สามารถแพร่ะกระจายผ่านชั้นดินนี้ลง
ไปยังชั้นดินล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้่
     3. ความลึกที่พบชั้นดานแข็งหรือก้อนกรวดมาก (consolidated layer or gravel) 
     4. มีหินโผล่ (rock out crop)
     5. มีก้อนหินโผล่ (stoniness) 
     6. ความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อย (nutrient status)
     7. การกร่อนของดิน (soil erosion) สูงข้อจำกัดทางด้านกายภาพดังกล่าวมีผลทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ด้านความโตและความสูงไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบมีหินโผล่และก้อนหินโผล่มากมาย ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ ความหนาแน่นของป่าเต็งรังจึงต่ำกว่าป่าชนิดอื่น พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นลานเตียนโล่ง พืชที่ต้องการแสงมากเช่น พวกหญ้าและไผ่เพ็ก แผ่คลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ต้นไม้ในป่าเต็งรังจึงไม่จำเป็นต้องแย่งแสงสว่างกันแบบบป่าดงดิบ
     
ต้นไม้ในป่าเต็งรังจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีไฟป่า โดยมีการปรับตัวดังนี้ 
          1. การมีเปลือกหนา เพื่อไม่ให้ไฟไหม้เข้าไปถึงเนื้อไม้
          2. จัดช่วงเวลาการออกดอกและโปรยเมล็ดให้ปลอดอันตรายจากไฟป่า
          3. อาศัยไฟป่าช่วยในการงอกของเมล็ด เช่น มะค่าแต้ มะค่าโมง
          4. ไม้บางชนิดจะโปรยเมล็ดหลังฤดูไฟป่าเนื่องจากเมล็ดสามารถตกลงถึงพื้นดินโดยไม่ได้ค้างอยู่บนยอดไผ่เพ็ก
         5. กล้าไม้ของพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบส่วนใหญ่มักจะสร้างรากให้แข็งแรงในดินก่อนการ
     สร้างลำต้นที่เรียกกันว่า “burn back phenomina” ตลอดจนการทำให้ต้นแกร่ง (hardenning)ป่าเต็งรังกับไฟป่าจึงเป็นของคู่กันเสมอ

ที่มา : http://office.csc.ku.ac.th/moon/index.php?option=com_content&view=article&id=105&Itemid=85

ที่มา อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง